28 September 2009

King’s Jewellers


ไม่นานมานี้ คอลัมน์ hotLIPS เกริ่นถึงนิทรรศการครั้งยิ่งใหญ่งานหนึ่งของปี จัดขึ้นโดยแบรนด์จิวเวลรี่แถวหน้าของโลก Cartier ใช้ชื่องานว่า ‘Cartier Treasures, King of Jewellers, Jewellers to Kings’ ณ Palace Museum ภายในพระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 5 กันยายน – 22 พฤศจิกายน ปีนี้

จึงถือโอกาสนำเรื่องราวของนิทรรศการครั้งนี้มาให้ LIPSters ได้เตรียมตน เผื่อจะมีใครได้มีโอกาสแวะไปปักกิ่งในช่วงเวลานั้น จะได้แวะเวียนไปเยี่ยมชม ‘ราชาแห่งอัญมณี, อัญมณีที่คู่ควรแด่ราชา’ อย่างที่คาร์เทียร์เขาแปลชื่อนิทรรศการเป็นเวอร์ชั่นไทย

โดยการนำคอลเล็กชั่นหายากในชุด Cartier Collection มาจัดแสดง เนรมิตรูปแบบงานให้เป็นการแสดงออกถึงความงามของการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของโลกตะวันออกและตะวันตก ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทที่ของทั้งคาร์เทียร์ และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยเฉพาะการจัดแสดงเกิดขึ้นภายใน Exhibition Hall Meridian Gate ที่เพิ่งได้รับการบูรณะเมื่อไม่นานนี้ และยังได้รับรางวัล Inaugural Heritage Award Jury Commendation for Innovation จากองค์การยูเนสโก อันเนื่องมาจากคุณภาพของวัสดุและเทคนิคที่ใช้ สอดคล้องกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของตัวอาคาร

สำหรับ คาร์เทียร์ คอลเล็กชั่น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1973 เมื่อ Robert Hocq ประธานบริษัทคาร์เทียร์ ปารีสในขณะนั้น ได้ซื้อนาฬิกาแบบเพนดูลัมที่น่าพิศวงเรือนแรกในหกเรือนที่ชื่อ “Portico” ซึ่งผลิตขึ้นโดยคาร์เทียร์เมื่อปี 1923 จากงานประมูลที่เมืองเจนีวา นาฬิกาล้ำค่าเรือนนี้เป็นส่วนหนึ่งใน ‘ความอัศจรรย์แห่งประดิษฐกรรมนาฬิกา’
การซื้อกลับคืนมาหลังจากที่ถูกผลิตออกมาแล้วนานถึงห้าสิบปี เป็นดั่งการเริ่มต้นของการสะสมผลงานสร้างสรรค์ระดับมาสเตอร์พีชของคาร์เทียร์ ซึ่งคาร์เทียร์ได้ซื้อกลับคืนจากเจ้าของโดยตรง หรือผ่านงานประมูล สะท้อนถึงความเป็นงานศิลป์และมรดกทางวัฒนธรรมชั้นเลิศตลอดระยะเวลากว่า 150 ปีของคารืเทียร์ได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันมีผลงานในคาร์เทียร์คอลเล็กชั่นกว่า 1360 ชิ้น และจะยังคงมีเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ผลงานที่คาร์เทียร์นำมาจัดแสดงครั้งนี้ ล้วนเป็นผลงานชิ้นเด่นๆ กว่า 350 ชิ้น รวมถึงเอกสารจดหมายเหตุนับย้อนไปตั้งแต่การก่อตั้งคาร์เทียร์ เรื่อยมาจนถึงผลงานในทศวรรษที่ 70 ที่แบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรก คือเครื่องประดับของราชวงศ์ต่างๆ ประกอบการจัดแสดงเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชสำนักในยุโรป โดยเฉพาะผลงานสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์ ที่ได้ถวายการรับใช้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษ อันเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการในครั้งนี้

ส่วนที่สอง เป็นการจัดแสดงผลงานที่สะท้อนอิทธิพลของประเทศจีนที่มีต่อการสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์ อาทิ ผลิตภัณฑ์เคลือบน้ำมันขัดเงา (Lacquer ware) การฝังมุก หยกโบราณแกะสลักภาพหรือคำจารึก เทพ หรือสัตว์ที่รังสรรค์จากฝีมือของช่างอัญมณี ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคาร์เทียร์และโลกตะวันออกไกลตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 รวมทั้งภาพวาด แบบร่าง และจดหมายเหตุที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี พร้อมทั้งรูปหล่อปูนปลาสเตอร์ (สำหรับขึ้นแบบ) จากหอจดหมายเหตุของคาร์เทียร์ ที่หาชมได้ยาก

สำหรับการจัดนิทรรศการ Cartier Treasures, King of Jewellers, Jewellers to Kings เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างช่างอัญมณีปารีส ณ Rue de la Paix และพาเลซมิวเซียม กรุงปักกิ่ง ที่เมื่อปี 1996 เคยจัดแสดง ‘Golden Pot’ ภายในพระราชวังต้องห้าม โดยเป็นงานสร้างสรรค์ของ ฌอง–ปิแอร์ เรย์โนด์ ศิลปินชื่อดัง จากการว่าจ้างของ Fondation Cartier pour l’art contemporain มูลนิธิคาร์เทียร์เพื่อการสนับสนุนศิลปะร่วมสมัย

ถือเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการยิ่งใหญ่ระดับโลกที่จัดขึ้นในเอเชีย โดยไม่ต้องเดินทางไกลไปชมถึงอีกซึกโลกหนึ่ง ใครมีโอกาสก็ไม่ควรพลาดชมเป็นอย่างยิ่ง
(ที่มา: คอลัมน์ Coffee Table, LIPS Magazine)

No comments: