25 July 2008
Nylon 70 th Anniversary
ถ้าบอกว่าไนล่อน ผ้าใยสังเคราะห์ที่เราท่านรู้จักดี และด้วยภาพลักษณ์ของไนล่อน ที่ฮิตตู้มต๊าม ในช่วงทศวรรษที่ 60 เรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 80 ที่บรรดาดีไซน์เนอร์แนวอวองค์ การ์ต พั๊งก์ นิวโรแมนติก ฯลฯ ต่างนำไนล่อนมาออกแบบเสื้อผ้าแนวใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องทำตามทรงและโครงร่างเดิมๆ อีกต่อไป
ดูเหมือนไนล่อนจะโมเดิร์นตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้ว ไนล่อน มีอายุครบ 70 ปี ในปีนี้ ถ้าหากจะนับย้อนไปถึงจุดกำเนิดของไนล่อนจริงๆ มีประวัติที่ยาวนานกว่านั้น โดยเฉพาะหากพูดถึงผ้าที่เกิดจากการสังเคราะห์นั้น ต้องย้อนกลับไปกว่าศตวรรษเลยทีเดียว
ก่อนนี้ มนุษยชาติ รู้จักก็เพียงผ้าที่ได้จากใยธรรมชาติ แต่ผ้าใยธรรมชาติส่วนใหญ่มักมีปัญหาแตกต่างกันไป เช่นผ้าฝ้ายและลินิน มักเกิดรอยยับเวลาสวมใส่และการซัก ไหม ต้องการการดูแลมากกว่าปกติ ผ้าวูลมักมีปัญาเรื่องการหดตัว และแมลงกัดแทะ เป็นต้น ผ้าสังเคราะห์ชนิดแรกที่โลกรู้จักก็คือ เรยอง (Rayon) มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่มีคุณสมบัติเหมือนไหม แต่การพัฒนาต้องการมากไปกว่าแค่ได้แค่ผ้าแพรเทียม และสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ง่าย (เพราะเรยอง ราคาแพงไม่น้อยหน้าผ้าไหม)
จากนั้นก็มีการพัฒนาผ้าใยสังเคราะห์เรื่อยมา พร้อมๆ กับการเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรม แต่เนื่องจากมีสิ่งประดิษฐ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะหลอดไฟ ทำให้การพัฒนาของผ้าใยสังเคราะห์เป็นไปอย่างเงียบเชียบ การพัฒนาผ้าใยสังเคราะห์ เป็นการต่อยอดจากเรยอง (ในอเมริกา พัฒนาโดย America Viscose Company ทำให้เรยอง เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิสคอส) หรือใช้ในอุตสาหกรรมประเภทอื่นเช่น ฟิล์ม หรือปีกเครื่องบิน เป็นต้น
กระทั่งปี 1931 นักเคมีของบริษัทดูปองต์ที่ชื่อ Wallace Carothers ได้คันพบ ‘Polymers’ อันเป็นที่มาของ ไนล่อน หรือที่เรียกขณะนั้นว่า ‘Miracle Fiber’ ใยผ้ามหัศจรรย์ นับเป็นการปฎิวัติรูปแบบของอุตสาหกรรผ้าในขณะนั้น เนื่องจากไนล่อน เป็นใยผ้าที่ได้จากการสังเคราะห์ล้วนๆ (ได้จากปิโตรเคมี) ไนล่อนสามารถให้ทั้งความบางเบา และยังสามารถผลิตให้มีความแข็งแรง และยืดหยุ่นได้ด้วย จึงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายกว่าผ้าชนิดอื่นๆ
ดูปองต์ พร้อมผลิตไนล่อนเพื่อการพาณิชย์ในปี 1939 โดยผลิตสินค้าออกมาสองรูปแบบ ได้แก่ ร่มชูชีพ และถุงน่องสตรี โดยถุงน่องนำออกโชว์ในงานเอ็กซ์โปที่นครซานฟรานซิสโก และได้สร้างประวัติศาสตร์พลิกโฉมวงการแฟชั่นไปในทันที ด้วยยอดจำหน่ายถุงน่องเพียงเฉพาะวันแรก ก็สามารถขายไปได้เฉพาะในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1940 ถึง 780000 คู่ และ 64 ล้านคู่ภายในปีแรก
เป็นที่ทราบกันว่า ในช่วงทศวรรษที่ 40 เป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงจุดวิกฤต และสหรัฐได้เข้าร่วมในสงครามโลกด้วย ทำให้ไนล่อนถูกนำไปใช้ผลิตยุทโธปกรณ์ทางทหาร เช่น เต้นท์ เชือก เสื้อกันฝน ร่วมชูชีพ เป็นต้น โดยเลิกผลิตถุงน่องเป็นการชั่วคราว นั่นทำให้ราคาในตลาดมืดของถุงน่อง เพิ่มขึ้นจากราคาปกติราว 1.25 ดอลล่าร์ มาเป็น 10 ดอลล่าร์ ถุงน่องยังมีส่วนร่วมในสงครามโดยดาราและพินอัพชื่อก้องอย่าง Betty Grable นำถุงน่องของเธอออกประมูล หารายได้สนับสนุนกองทัพสหรัฐ และได้เงินประมูลสูงถึง 40000 ดอลล่าร์
ถุงน่องได้รับความนิยมเรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อเหล่าพินอัพตั้งแต่ยุค ’40s และ ’50s นิยมสวม โดยเฉพาะแบบที่มีสายรั้งกับชุดชั้นใน ทำให้เป็นอีกหนทางหนึ่งนอกจากจะเพื่อเรียวขาสวย ยังเพิ่มความเซ็กซี่ได้อีกด้วย
ไม่เพียงแต่ไนล่อนจะได้รับความนิยมในฐานะถุงน่องของสาวๆ (ที่ว่ากันว่า ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 หากหญิงใดได้รับถุงน่องจากทหารหาญ ถือเป็นความภูมิใจ ที่สามารถอวดเพื่อนๆ ได้เลย) ไนล่อนยังได้รับการออกแบบให้เป็นเสื้อผ้า มีข้อมูลว่าก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่จะมีไนล่อน ตลาดเครื่องแต่งกาย นิยมผ้าฝ้ายสูงถึง 80%จนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘King of Fibers’ ที่เหลืออีก 20% แบ่งให้แก่ผ้าชนิดอื่นๆ แต่เมื่อสิ้นสุดสงครามในปี 1945 ส่วนแบ่งของฝ้ายลดเหลือ 75% ที่เหลือตกเป็นของผ้าชนิดอื่นๆ ที่ 15% ก็คือไนล่อน
พัฒนาการของไนล่อนก้าวต่อไป จนถึงขั้นที่ว่าสามารถจะ ‘ซักแล้วสวม’ ได้เกือบจะทันที เพราะไนล่อนได้รับการพัฒนาให้ลดการเกิดคราบ และแห้งเร็วขึ้น
ไนล่อน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 60 ที่กระแสของมินิสเกิร์ตได้รับความนิยมอย่างสูง ก็พลอยทำให้ถุงน่องได่รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย ประมาณกันว่า เฉพาะในอเมริกา ไนล่อนได้ส่วนแบ่งไปถึง 30 -40 % ทีเดียว ความนิยมลุกลามมาจนถึงทศวรรษที่ 80 ที่การออกแบบเสื้อผ้ามีความยืดหยุ่นเหมือนเนื้อผ้าไนล่อน นักออกแบบต้องการออกแบบเสื้อผ้าที่มีสีสันจัดจ้าน และเน้นความกระชับรูปร่างมากยิ่งขึ้น
ดังเช่นการสวมเลคกิ้ง หรือบอดี้สูท ไนล่อนจึงเป็นคำตอบสำหรับเทรนด์แฟชั่นเช่นที่ว่า เนื่องจากคุณสมบัติที่ไนล่อนสามารถให้สีสันที่จัดจ้านมาตั้งแต่ขั้นตอนแรกของการผลิตเส้นใย ทั้งยังมีการพัฒนาไปสู่ผ้า ‘Lycra’ จากดูปองต์เจ้าเก่า ที่ให้ความยืดหยุ่น และกระชับกว่าไนล่อนแบบเดิมถึง 7 เท่า
ความนิยมของไนล่อนไม่ได้มีแต่เสื้อผ้าของเราท่าน แต่ได้รับการออกแบบเป็นชั้นหนึ่งของชุดนักบินอวกาศ โดยเฉพาะกับภาระกิจการเดินทางลงบนดวงจันทร์ของ นีล อาร์มสตรองเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1969
ปัจจุบันไนล่อนได้รับการพัฒนาให้ใช้กับแวดวงกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่ต้องการสร้างความเร็ว เช่นกรีฑา จักรยาน หรือว่ายน้ำ นอกจากนี้ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของความกระชับ นุ่มสบาย และระบายอากาศ ที่ตัวเลือกที่ดีที่สุดยังคงเป็นผ้าใยสังเคราะห์อย่างไนล่อนนั่นเอง
ด้วยเหตุที่ไนล่อนได้รับการพัฒนามาโดยตลอดนี้เอง ที่ทำให้ภาพของไนล่อนนั้นยังคง ‘ใหม่’ และ ‘ทันสมัย’ มาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะเบิร์ดเดย์ปีที่ 70 แล้วก็ตาม
(column: Coffee Table, LIPS Magazine 9/21)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comment:
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ
Post a Comment