03 July 2008

Au Revoir, Yves

วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โลกสูญเสียแฟชั่นดีไซน์เนอร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 19 ผลงานของเขา เป็นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบของสาวๆ ในปัจจุบัน นักออกแบบรุ่นหลังล้วนหยิบแนวคิดของเขามาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นใหม่ นอกเหนือจากการเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าแฟชั่นนิตาสหลายต่อหลายคน

‘อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์’ (Yves Saint Laurent) จากไปด้วยวัย 71 ปี แต่ผลงานของเขาจะปรากฏต่อไปตราบที่โลกยังมีแฟชั่น

ศตวรรษที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีนักออกแบบแฟชั่นไม่มากนักที่จะได้ชื่อว่า เป็นสุดยอดนักออกแบบที่โลกยกย่อง และยอมรับ ได้แก่ โคโค่ ชาเนล (Coco Chanel) คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) คริสโตบาล บาเลนเซียกา (Cristobal Balenciaga) คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) และแน่นอนที่สุด ...อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์



ผลงานของ แซงต์ ลอรองต์ ไม่ได้แค่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสาวๆ หรือนักออกแบบรุ่นต่อมาเท่านั้น แต่ผลงานของเขา ยังเหมือนเป็นประตูสู่การแต่งกายสมัยใหม่ ทั้งยังยกระดับความเสมอภาคของเพศหญิงด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์ที่เรียกขานกันว่า le Smoking

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโคคัส ซาร์โคซี เคยกล่าวถึงแซงต์ ลอรองต์ว่า “เขาคือบุคคลแรก ที่ยกระดับแฟชั่นชั้นสูง ให้เป็นงานศิลปะ ซึ่งมีอิทธิพลต่อโลก” และยังถือว่า แซงต์ ลอรองต์ เป็นดังสมบัติของประเทศฝรั่งเศส

“อัจฉริยะที่ยังมีชีวิต” คำกล่าวที่ ไดอาน่า วีร์แลนด์ (Diana Vreeland) หมายถึงแซงต์ ลอรองต์ เมื่อครั้งที่มีการจัดแสดงผลงานย้อนอดีตของเขาที่ Costume Institute of the Metropolitan Museum of Art กรุงนิวยอร์ก เมื่อปี 1983 นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันแห่งนี้จัดแสดงงานเพื่อเป็นเกียรติแก่นักออกแบบที่ยังมีชีวิตอยู่ (ขณะนั้นแซงต์ ลอรองต์ อายุ 47 ปี) แต่การจะได้มาซึ่งความเป็นอัจฉริยะนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ และอาจต้องแลกกับความทุกข์ทรมาน ด้วยการทางประสาท ที่แซงต์ ลอรองต์ เป็นมาตั้งแต่วัยเยาว์

อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ มีชื่อเต็มว่า Yves Henri Mathieu Saint Laurent เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1936 ที่เมืองออราน ประเทศอัลจีเรีย (ประเทศภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในขณะนั้น) เป็นบุตรคนโตของ Charles และ Lucienne Andree Mathieu Saint Laurent บิดาเป็นผู้อำนวยการบริษัทประกันภัย

แซงต์ ลอรองต์ มีพรสวรรค์ในด้านศิลปะ และการออกแบบมาตั้งแต่เด็ก เขาชอบออกแบบเสื้อผ้ากระดาษให้กับตุ๊กตาของน้องสาวสองคน Brigitte และ Michele จนกระทั่งเมื่ออายุได้ 12 ปี เขามีโอกาสได้ชมละครเรื่อง Moliere’s “L’Ecole des Femmes” และก็รู้ตัวทันทีว่าตกหลุมรักในมนต์เสน่ห์ของละครในทันที และค้นพบว่า สิ่งที่เขาใฝ่ฝันคือการได้ทำงานร่วมกับโรงละคร และด้วยความชื่นชอบในศิลปะแขนงต่างๆ ทั้งวรรณกรรม และจิตรกรรม จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสร้างสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยความวิจิตร

บุคคลท่านหนึ่งที่มีส่วนผลักดันการเป็นดีไซน์เนอร์ และเป็นแรงบันดาลใจเรื่อยมาในการออกแบบคอลเล็กชั่นเสื้อผ้า ก็คือมารดาของเขาเอง แซงต์ ลอรองต์กล่าวว่า แม่ของเขา ชอบการแต่งกาย และเป็นแรงบันดาลใจแรกๆ ที่ทำให้เขาสนใจในเรื่องของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และแน่นอนว่า แม่ของเขา ก็เป็นหนึ่งในแฟนตัวยงของแบรนด์อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ ทุกครั้งที่เขาแสดงโชว์ จะมีแม่ของเขานั่งชมโชว์บนที่นั่งแถวหน้าเสมอ

แซงต์ ลอรองต์ ก้าวสู่โลกของแฟชั่นครั้งแรกเมื่ออายุ 17 ปี ด้วยการส่งภาพร่างแบบเสื้อเข้าประกวด International Wool Secretariat (ได้ที่ 3) ทำให้ได้รู้จักกับ Michel de Brunhoff ผู้อำนวยการนิตยสารโว้ค ฝรั่งเศส ที่เกิดประทับใจในผลงานของเขา และแนะนำให้ประกวดอีกครั้ง

...ปีถัดมา แซงต์ ลอรองต์ ก็ชนะเลิศในการออกแบบชุดเดรสเกาะอกสีดำ (เป็นปีเดียวกับที่ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เข้าประกวด และชนะเลิศในประเภทเสื้อโค้ต เช่นกัน)

การประกวดครั้งนั้น คริสเตียน ดิออร์ คือหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน และเดอ บรุนฮอฟฟ์ คือผู้นัดหมายให้เกิดการพบกันระหว่างแซงต์ ลอรองต์ และดิออร์ ที่ก็ประทับใจในผลงานของเขา ผลการพบกันครั้งนั้น แซงต์ ลอรองต์ ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาช่วยงานดิออร์

ที่ดิออร์นี้ แซงต์ ลอรองต์ มีโอกาสเรียนรู้งานออกแบบ และร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับดิออร์ จนดิออร์ ถึงกับเรียกเขาว่า ‘ลูกชายคนโต’ หรือไม่ก็ ‘มือขวา’ และมีโอกาสออกแบบเสื้อผ้าให้ดิออร์อยู่เสมอๆ รวมทั้ง ‘Pea Jacket’ หรือเสื้อแจ๊กเก็ตกระดุมสองแถว รูปฝักถั่วที่แซงต์ ลอรองต์ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อเบลเซอร์ของทหารเรือ ที่ไม่เคยล้าสมัยมาจนทุกวันนี้


ดิออร์เอง มันบอกกับคนรอบข้างว่าแซงต์ ลอรองต์นี่แหละ ที่จะเป็นผู้สืบทอดการออกแบบของเขาต่อไป


แล้วคำพูดนั้นก็เป็นจริง เพราะเดือนตุลาคม 1957 ดิออร์เสียชีวิตอย่างกะทันหัน แซงต์ ลอรองต์ จึงรับหน้าที่หัวหน้าทีมออกแบบของห้องเสื้อที่ดังที่สุดในโลกขณะนั้น ท่ามกลางความกังขาของหลายๆ คน ว่าคนอย่างเขาจะพาห้องเสื้อที่ยิ่งใหญ่นี้ไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะขณะนั้น แซงต์ ลอรองต์ มีอายุเพียง 21 ปี เท่านั้น ที่สำคัญเขามีเวลาเตรียมตัวนำเสนอคอลเล็กชั่นต่อไปแค่เพียง 2 เดือน เท่านั้น!

วันที่ 30 มกราคม 1958 แซงต์ ลอรองต์ ออกแบบเสื้อผ้าในนามห้องเสื้อดิออร์ โดยอิงจากนิวลุค ของดิออร์ ในแบบที่นุ่มนวล และดูสบายกว่าเดิม ผลที่ได้คือเสื้อไหล่แคบ เน้นช่วงเอว จากนั้นค่อยผายออกจนถึงชายกระโปรงความยาวเข่าเป็นรูปตัว A ภายใต้ชื่อคอลเล็กชั่น ‘Trapeze’

กล่าวกันว่า คอลเล็กชั่นนี้ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอันมาก กระทั่งผู้ชมส่วนใหญ่หลั่งน้ำตาด้วยความปิติ สื่อมวลชนทั่วโลกเผยแพร่ข่าวความสำเร็จในครั้งนี้ ชื่อเสียงถาโถมสู่แซงต์ ลอรองต์ ในฐานะ ‘ผู้กอบกู้ฝรั่งเศส’

ไม่เพียงแต่กอบกู้ภาพลักษณ์ของแฟชั่นชั้นสูงฝรั่งเศสให้คงอยู่ ภายหลังการสูญเสียดิออร์ แต่แซงต์ ลอรองต์ ได้สร้างสรรค์ รูปทรงทราเปซ (Trapeze Line) อันจะกลายเป็นต้นแบบของมินิเดรสในยุค’60s รวมถึงเดรส และโอเวอร์โค้ตทรงเอ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน รวมทั้ง ‘chic Beatnik’ เสื้อนิตคอเต่า สวมทับด้วยแจ๊กเก็ตหนังสีดำ ที่กลายเป็นต้นแบบเสื้อผ้าแนวอวองการ์ดอย่างแท้จริง

แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงทั่วโลก แต่ภายในห้องเสื้อดิออร์เอง กลับไม่ได้ให้การยอมรับในตัวดีไซน์เนอร์อายุน้อยผู้นี้ โดยเฉพาะกับ มาร์แซล บูส์ซอค (Marcel Boussac) นายทุนของห้องเสื้อดิออร์ กระทั่งปลายปี 1960 แซงต์ ลอรองต์ ถูกเรียกตัวเกณฑ์ทหารในสงครามระหว่างฝรั่งเศสและอัจจีเรีย ที่ต้องการเอกราช จากนั้นเพียง 3 อาทิตย์เขาก็เกิดอาการโรคประสาทกำเริบหนัก ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวตลอด และได้รับการปลดประจำการในอีกเดือนต่อมา แต่อาการประสาทจะยังคงหลอกหลอนเขาไปตลอดชีวิต


การรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับ ปิแอร์ เบิร์ก (Pierre Berge) ที่ได้กลายเป็นคนรู้ใจมายาวนานจนวาระสุดท้ายของแซงต์ ลอรองต์ ทั้งยังเป็นผู้จัดการธุรกิจทั้งหมดของเขาด้วย

เมื่อแซงต์ ลอรองต์ กลับจากการรักษาตัว ในปี 1961 เขากลับพบว่าตำแหน่งหัวหน้านักออกแบบของดิออร์ ถูกเปลี่ยนมือให้แก่อดีตผู้ช่วยของเขา มาร์ค บอห์น (Marc Bohan) ทำให้เขาตัดสินใจฟ้องร้องห้องเสื้อดิออร์ และชนะคดีในที่สุด

พร้อมๆ กับตัดสินใจเปิดห้องเสื้อภายใต้ชื่อของเขา โดยร่วมลงทุนกับเบิร์ก และเจ แมค โรบินสัน นักลงทุนรายใหญ่จากแอตแลนต้า เวิร์คช้อปแรกตั้งอยู่บนถนนสปองตินี (ที่ปัจจุบันคือที่ตั้งของมูลนิธิปิแอร์ เบิร์ก อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์) และได้แสดงคอลเล็กชั่นแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 1962 อันแสดงให้เห็นถึงการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง จนบางคนกล่าวว่าเป็นเสื้อผ้าแนวใหม่ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ชาเนลได้เคยสร้างสรรค์มา

การสร้างสรรค์ผลงานของแซงต์ ลอรองต์ มีความโดดเด่นกระทั่งสามารถหาสิ่งแปลกใหม่ได้เสมอในทุกคอลเล็กชั่น ผลงานของเขา ปูพื้นฐานให้กับการออกแบบเสื้อผ้าสมัยใหม่ ด้วยแนวคิดที่จะออกแบบเสื้อผ้าที่สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส แต่เน้นความสง่างาม คลาสสิก หากสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม


ดังเช่นคอลเล็กชั่นที่เขานำภาพของจิตรกร Mondrian มาเรียงร้อยเข้ากับบ็อกซี่เดรสได้อย่างลงตัว และเข้ากระแสแฟชั่นป๊อปของทศวรรษที่ 60 รวมถึงการนำผลงานศิลปะของศิลปินชั้นนำอย่าง Picasso, Miro หรือ Matisse ผสานในคอลเล็กชั่นของเขาอยู่เนือง และมักสร้างสรรค์ผลงานที่แฝงความหมายเอาไว้ให้ขบคิด เป็นการดึงศิลปะมาสู่เสื้อผ้า และยกระดับเสื้อผ้าชั้นสูงให้เทียบเท่ากับการสร้างสรรค์ศิลปะชิ้นหนึ่งจนประสบผลสำเร็จ

และด้วยวิสัยทัศน์ของศิลปิน แซงต์ ลอรองต์ ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องการเลือกใช้สีสันได้ดีที่สุด เทคนิคการเลือกใช้สีสัน สะท้อนอารมณ์ของเสื้อผ้า เป็นแบบอย่างให้นักออกแบบรุ่นหลังสนใจในการใช้สีสันในการออกแบบคอลเล็กชั่นกันมากขึ้น

ปี 1966 แซงต์ ลอรองต์ มีแนวคิดที่จะออกแบบคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเปิดร้านบนถนนตูร์นัง ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ให้ชื่อว่า Rive Gauche เสื้อผ้าสำเร็จรูปของแซงต์ ลอรองต์นั้น ต่างจากเสื้อผ้าสำเร็จรูปอื่นๆ ที่เน้นการผลิตครั้งละมากๆ โดยรีฟ โกช จะเน้นการตัดเย็บอย่างประณีต ด้วยวัสดุชั้นเลิศ เทียบเคียงเสื้อผ้าชั้นสูงที่เขาออกแบบ จึงทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูป อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ รีฟ โกช ได้ชื่อว่ามีราคาสูงกว่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปอื่นๆ

ด้วยความที่แซงต์ ลอรองต์ เป็นดีไซน์เนอร์หัวก้าวหน้า และเชื่อมั่นในพลังของผู้หญิง เขาเชื่อว่าผู้หญิงต้องแสดงออกถึงความแกร่ง และผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในอาชีพมากขึ้น โดยมักจะแนะนำให้ ผู้หญิงสวมกางเกงเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นการพัฒนาสู่การเป็นผู้หญิงสมัยใหม่

เขาเริ่มออกแบบรูปแบบแจ๊กเก็ต และกางเกง ที่จำลองจากทักสิโดของผู้ชายมาให้ผู้หญิงสวม มาตั้งแต่ฤดูหนาวปี 1966 ที่ต่อมาเมื่อ เฮลมุท นิวตัน ตีพิมพ์ภาพถ่ายสาวสวมทักสิโด รวบผมตึง และกำลังคีบบุหรี่ในมือ ตั้งชื่อภาพว่า ‘Le Smoking’ เมื่อปี 1975 ทำให้ เลอ สโมกกิ้ง กลายเป็นคำเรียกชื่อสูทกางเกงสำหรับสตรีโดยทั่วไป รวมทั้งเป็นการแสดงออกถึงความเท่าเทียมทางเพศ

กระทั่งปี 1968 อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ตอกย้ำความเข้มแข็งของผู้หญิง ด้วยการออกแบบแจ๊กเก็ตซาฟารี ที่นำแรงบันดาลใจจากชุดซาฟารีหนุ่มมาออกแบบให้สาวดูเซ็กซี่ ด้วยแจ๊กเก็ตซาฟารีกับกางเกงขาสั้น เป็นภาพที่ติดตาไปทั่วโลกเมื่อได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารโว้คปีเดียวกัน รวมทั้งการออกแบบเสื้อซีทรู สวมกับกางเกงและกระโปรงยาว สะท้อนอิสระในการแสดงออกทางเพศ

ไม่เพียงแต่เสื้อผ้าบนแคตวอล์ค ตลอดช่วงอายุของแซงต์ ลอรองต์ ยังได้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับทั้งละครเวที โอเปร่า บัลเล่ต์ และภาพยนตร์ อย่างที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก ภาพยนตร์เรื่องดัง Belle de Jour เขารับหน้าที่ออกแบบเสื้อผ้าให้แคทเธอรีน เดอเนิฟ ตัวแสดงเอกของเรื่อง และเดอเนิฟ ก็เป็นแฟนผลงานของแซงต์ ลอรองต์เสียด้วย

ไม่เพียงแต่การสร้างความฮือฮา และนำเสนอสิ่งใหม่ให้แก่วงการแฟชั่น แซงต์ ลอรองต์ ยังได้ชื่อว่าสร้างความอื้อฉาวได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับการเปิดตัวน้ำหอมสำหรับผู้ชายเมื่อปี 1971 กับภาพโฆษณาที่เขาเปลือยกายถ่ายแบบด้วยตนเอง จากนั้นกับน้ำหอมสตรีตัวที่สอง ที่เป็นน้ำหอมที่ขายดีที่สุดของเขา ให้ชื่อว่า Opium กลายเป็นที่วิจารณ์ถึงการเป็นนักเสพของเขา แต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงอาการ ‘ติด’ แบรนด์ อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ และท้ายสุดในปี 1993 กับการเปิดตัวน้ำหอม Champagne ได้ถูกฟ้องร้องจากผู้ปลูกไวน์เมืองแชมเปญ และกลุ่มบริษัท LVMH ในการนำชื่อเมืองมาเป็นเครื่องหมายการค้า ที่สุดจึงต้องมีการเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อของดีไซน์เนอร์และนำน้ำหอมเดิมทั้งหมดออกจากร้านค้า

ผลงานออกแบบที่ต้องจารึกไว้ ก็คือการออกแบบคอลเล็กชั่นสวนกระแสอวงอการ์ตในทศวรรษที่ 60 ด้วยการออกแบบคอลเล็กชั้นที่นำแรงบันดาลใจจากทศวรรษที่ 40 ด้วยแจ๊กเก็ตและกระโปรงระดับเข่า ทั้งที่ขณะนั้นเน้นเดรสและกระโปรงสั้นทั้งสิ้น รวมทั้งคอลเล็กชั่นที่ได้แรงบันดาลใจจากบัลเล่ย์รัสเซีย ชนเผ่าในอัฟริกัน และลายพิมพ์เสือดาว

แต่แม้ผลงานจะสวยงาม ทว่าชีวิตของเขาก็เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ทั้งจากปัญหาของอาการประสาท ที่ส่งผลกระทบต่อการออกแบบของเขาอยู่บ่อยครั้ง และมาพร้อมข่าวลือมากมายเกี่ยวกับสุขภาพ และยาเสพติด

กลางทศวรรษที่ 80 ธุรกิจขนาดใหญ่เกินตัวของเขา กลายเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้บริษัทของเขาจำต้องควบรวมกับกลุ่มธุรกิจ เอลฟ์ ซาโนฟี (Eif-Sanofi) บริษัทในกลุ่มพลังงานและเคมี แต่ท้ายที่สุดธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปและน้ำหอมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งและของ Gucci Group และตกทอดต่อไปยังบริษัท PPR เหลือเพียงเสื้อผ้าชั้นสูงที่ยังคงออกแบบโดยแซงต์ ลอรองต์



ขณะนั้นก็เกิดความขัดแย้งอย่างหนักกับ กุ้ชชี่กรุ๊ป เมื่อ ทอม ฟอร์ด ก้าวมาออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูปแทน อัลแบร์ แอลบาซ ผู้ที่แซงต์ ลอรองต์เลือกให้มาออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูปแทนเขาได้เพียง 3 คอลเล็กชั่น จบลงด้วยการประกาศปิดห้องเสื้อชั้นสูง ที่แซงต์ ลอรองต์สร้างสรรค์มาตลอด 4 ทศวรรษ พร้อมอำลาวงการแฟชั่น เมื่อปี 2002 พร้อมคอลเล็กชั่นสุดท้าย ที่มีแต่เสียงปรบมืออันกึกก้อง และรอยน้ำตาแห่งความอาลัย
คงเหลือไว้แต่มูลนิธิ ปิแอร์ เบิร์ก อีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ เพื่อเผยแพร่ผลงานของอีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ และศิลปะอื่นๆ

แซงต์ ลอรองต์ เชื่อเสมอว่า ดีไซน์เนอร์ทุกคน ต้องค้นหาเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานของตนให้พบ ด้วยความเชื่อมั่นในปรัชญาของ โคโค่ ชาเนล ที่ว่า ‘แฟชั่นเปลี่ยน แต่สไตล์คงเดิม’ (Fashions fade. Style is eternal) ชาเนลเองก็ทราบเรื่องนี้ และเคยเอ่ยถึงแซงต์ ลอรองต์ว่า ‘เพราะใครสักคน จะต้องเดินตามรอยเท้าของฉัน’


แล้วสไตล์ของอีฟส์ แซงต์ ลอรองต์ จึงคงอยู่เป็นนิรันดร์
</


(column: Coffee Table, LIPS Magazine 9/23)

No comments: