จบจากการเดินสายแฟชั่นวีค อันเป็นไฮไลต์ของแวดวงแฟชั่น ก็นึกว่าแวดวงแฟชั่นจะซบเซาเหงาหงอย ที่ไหนได้ ยังมีข่าวใหญ่ให้ได้เป็นข่าวหน้าหนึ่ง
ข่าวแรก เป็นข่าวใหญ่จริง เพราะฝั่งหนึ่งเป็นตำนานของดีไซน์มินิมัลจากเยอรมัน ที่ครั้งหนึ่งก้าวสู่แถวหน้าแฟชั่นโลกอย่างยิ่งใหญ่ Jil Sander นั่นเอง ส่วนอีกฝั่ง เป็นยักษ์ใหญ่วงการเสื้อผ้าสไตล์เบสิกจากญี่ปุ่น Uniqlo (ใหญ่ขนาดที่เจ้าของแบรนด์ก้าวขึ้นไปเป็นผู้มีรายได้เป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น) โดยเพิ่งมีแถลงข่าว การเข้ามาของ จิล แซนเดอร์ ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายสร้างสรรค์ (ขณะที่บางรายงานข่าวบอกว่าเป็นครีเอทีฟไดเร็ตเตอร์) ของ ยูนิโคละ (สะกดภาษาไทยยากจัง เอาเป็นว่า อ่าน ยูนิโคโละ แบบเร็วๆ)
โดยเธอจะดูแลในส่วนของเสื้อผ้าทั้งของชายและหญิงที่จะวางจำหน่ายทั่วโลก ตามข่าวแปลความให้ว่า เท่ากับ จิล แซนเดอร์ จะทำหน้าที่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์อย่างไม่เป็นทางการของ ยูนิโคละ โดยจะเริ่มเห็นผลงานความร่วมมือ ในฤดูใบไม้ร่วงและหนาวนี้เลย
ทั้งนี้หลายฝ่ายก็เชื่อว่า ไม่ช้าไม่นาน ก็จะเห็นดีไซน์ของ ยูนิโคละ ที่ออกแบบโดย จิล แซนเดอร์ อย่างเต็มตัวแน่นอน ทั้งนี้เพราะนอกจากการเข้าร่วมทีมกับ ยูนิโคละ ทางแบรนด์ ก็เคยร่วมกับนักออกแบบรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Tim Hamilton, Alexander Wang, Alexandre Plohkov, Phillip Lim หรือ Alice Ro ออกแบบเสื้อผ้าสไตล์เบสิคแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่ของ จิล แซนเดอร์ นั้นจะไม่ใช่การออกแบบเฉพาะกิจเหมือนดีไซน์เนอร์ข้างต้น
ย้อนกลับไปรำลึก ตำนานของ จิล แซนเดอร์ สักนิด เผื่อใครจำไม่ได้ หรือเกิดไม่ทัน อันว่าแบรนด์ และดีไซนเนอร์ชื่อเดียวกันนี้ เคยเป็นแบรนด์แถวหน้า ที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของมิลานแฟชั่นวีค โดยเฉพาะในยุคที่สไตล์มินิมัลฮิตสุดขีดเมื่อราวทศวรรษที่ 90 ทว่าตำนานความยิ่งใหญ่เกิดสะดุดลง เมื่อจิล แซนเดอร์ ขายแบรนด์ให้แก่ปราด้ากรุ๊ป และเกิดขัดแย้งกับผู้บริหาร เป็นเหตุให้ จิล แซนเดอร์ โบกมือลาแบรนด์ จิล แซนเดอร์ ส่วนแบรนด์ จิล แซนเดอร์ เองหลังจากนั้น ก็เป๋ไปมากับความไม่ลงตัวในสไตล์การออกแบบของผู้มารับไม้ต่อแบบฉับพลัน นานเข้าๆ จนทนไม่ไหว จิล แซนเดอร์ จึงได้หวนกลับมากู้หน้า
แต่แล้วก็เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม ก็คือ 'ตีกัน' กะคนเดิมค่าเดิม ก็เลยเหมือนเดิม คือขออำลาแต่เพียงเท่านี้ จากนั้น จิล แซนเดอร์ ก็หายหน้าหายตาไปจากวงการแฟชั่น ส่วนแบรนด์ จิล แซนเดอร์ ที่กำลังโงนเงน กลับได้อัศวินขี่ม้าขาวอย่าง Raf Simons อาสาออกแบบเสื้อผ้าให้จนตอนนี้ จิล แซนเดอร์ เริ่มกลับมาขลังอีกครั้ง ตามด้วยการเปลี่ยนมือเจ้าของแบรนด์ จิล แซนเดอร์ ไปสู่กลุ่มธุรกิจญี่ปุ่น แทนปราด้ากรุ๊ป
สำหรับ ยูนิโคละ นั้นผลิตเสื้อผ้าได้แบบครบวงจร คือผลิตเองตั้งแต่เนื้อผ้า จนถึงออกมาเป็นเสื้อผ้าอย่างที่เห็น ดังนั้นสำหรับยูนิโคละ ก็จะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านเนื้อผ้า และวัสดุ ทั้งยังเป็นจุดแข็งที่ทำให้เสื้อผ้าของ ยูนิโคละ มีราคาถูกกว่าเสื้อผ้่าแบรนด์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยูนิโคละ เริ่มขยายอาณาจักรไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา การได้ จิล แซนเดอร์ มาร่วมงานก็เท่ากับ จะช่วยในเรื่องการตลาดในต่างประเทศ และยังน่าจะช่วยยกระดับแบรนด์ ยูนิโคละ ต่อไป
fasholic.blogspot.com สะกิดเตือนให้ระลึกได้ว่า นี่คือการร่วมงานกันระหว่าง เยอรมัน (Jil Sander) และ ญี่ปุ่น (Uniqlo) มหาอำนาจฝ่ายอักษะแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 !!! <<< ขำๆ นะ ไม่ได้จุดประเด็น !!!
'bye bye olive!'
ข่าวก่อนหน้าข่าวแรกไม่นาน เมื่อ Olivier Theyskens ส่งแฟกซ์แถลงข่าวโบกมือลาแบรนด์ Nina Ricci หลังจากมีข่าวเม้าท์สนุกสนานว่าทางนิน่า ริชชี่ แขวนเรื่องการต่อสัญญาการเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของโอลีฟออกไปแบบไม่มีกำหนด ทั้งที่สัญญาจะสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้ เหมือนเป็นการส่งสัญญาณ คำตอบการสิ้นสุดความสัมพันธ์ 2 ปี 4 คอลเล็กชั่นโดยทางอ้อม โดยโอลีฟ ขอฮึดสู้อีกครั้งด้วยการเปิดห้องเสื้อของตนเองขึ้นมา หลังจากต้องปิดตัวไปเมื่อหลายปีก่อนแล้วจึงเงียบหายไป ก่อนจะมาฮือฮาอีกครั้งด้วยคอนเซ็ปต์ Demi Couture กับแบรนด์น้องใหม่ (แต่ชื่อเก่าและเก๋าในวงการน้ำหอม) Rochas แล้ววันหนึ่ง ผู้บริหารโรช่าส์ ก็ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการปิดแบรนด์เสื้อ เหลือเพียงน้ำหอม ลอยคว้างโอลีฟกลางอากาศ
อกหักเพียงไม่นาน นิน่า ริชชี่ เข้ามาโอบอุ้มโอลีฟ พร้อมกับการออกแบบเสื้อผ้าแนวใหม่ ที่ฉีกจากดีไซน์ของโอลีฟที่ผ่านๆ มาพอสมควร แต่ที่เหมือนเดิมคือความอลังการ และความหวานเต็มร้อย ส่วน โรช่าส์ ก็ทำเซอร์ไพรส์อีกรอบ ด้วยการ 'เปิด' แผนกเสื้อผ้าเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พร้อมดีไซน์เนอร์คนใหม่และแนวการออกแบบที่เรียบง่าย และขายของ
เหมือนจะซ้ำรอยเดิม นิน่า ริชชี่ เป็นแบรนด์เสื้อที่มีอีกหนึ่งธุรกิจทำเงินคือ น้ำหอม การณ์นี้มีข่าวจากทางฝั่งนิน่า ริชชี่ ว่าเหตุที่ไม่ต่อสัญญา ก็เพราะเห็นว่า ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป ควรทำตัวเลขให้สอดคล้องกับธุรกิจน้ำหอม ...ตอกย้ำภาพเส้นทางขนานระหว่างการสร้างสรรค์ผลงานเสื้อผ้า อันเป็นแขนงหนึ่งของงานศิลปะ กับเส้นทางของการแข่งขันทางธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วใครจะหาญกล้ามาเป็น 'แบ็คอัพ' ให้พ่อโอลีฟ กันล่ะ??
No comments:
Post a Comment